คมนาคมเปิดทางรฟท.ปรับแบบรถไฟสายสีแดง
"ชัชชาติ"เปิดทางรฟท.ปรับแบบก่อสร้างรถไฟสายสีแดงรองรับรถไฟความเร็วสูง แต่ต้องอยู่บนหลักเหตุผล
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายชูศักดิ์ เกวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม ไปทบทวนความเหมาะสมค่าก่อสร้าง โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งได้ปรับแบบก่อสร้างบริเวณสถานีบางซื่อและระบบราง เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง ซึ่งทำให้วงเงินก่อสร้างเพิ่มประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์
"การปรับแบบก่อสร้างครั้งนี้เพื่อรองรับอนาคต ที่จะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง ไม่ใช่การปรับเพิ่มเนื้องานของรถไฟสายสีแดง ซึ่งผมจะได้เสนอให้ครม.พิจารณา จัดหาเงินงบประมาณเพื่อมาดำเนินการ แต่การเสนอจะต้องมีเหตุผล ค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นก็ต้องมีเนื้องานที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม และใช้เฉพาะที่จำเป็นจริงๆ"นายชัชชาติ กล่าว
สำหรับเนื้องานที่เพิ่มขึ้น มีการขยายชานชาลาเป็น 600 เมตร จากเดิม 200 เมตร เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงมีขบวนรถยาวกว่ารถไฟสายสีแดง รวมทั้งมีการปรับรางเป็น 4 ราง จากเดิม 3 ราง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเดินรถ หากไม่ก่อสร้างในปัจจุบัน จะทำให้การขยายสถานีบางซื่อในภายหลังทำได้ลำบาก หรืออาจไม่สามารถทำได้เลย เนื่องจากการตอกเสาเข็มบนพื้นที่ที่มีอาคารอยู่แล้วจะทำได้ยาก รวมทั้งการขยายรางก็ต้องจัดเตรียมพื้นที่ไว้ล่วงหน้าก่อน
อย่างไรก็ตาม กรณีการปรับแบบก่อสร้างดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดงในปัจจุบัน ผู้รับเหมาก่อสร้างไม่สามารถนำเรื่องนี้เป็นสาเหตุให้งานก่อสร้างล่าช้า เพราะสามารถปรับแผนก่อสร้างไปทำงานในส่วนอื่นก่อนได้ และที่ผ่านมาก็ไม่มีการสั่งให้ชะลองานก่อสร้าง
สำหรับโครงการรถไฟสายสีแดง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 สัญญา คือ สัญญา 1 งานโยธาสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง วงเงินก่อสร้างเดิม 2.9 หมื่นล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และสัญญา 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 21 กม. วงเงินก่อสร้างเดิม 2.1 หมื่นล้านบาท มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
นายชัชชาติ ยังกล่าวอีกว่า ได้เร่งรัดให้รฟท.จัดหาผู้บริหารสถานีขนส่งสินค้าภายในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือไอซีดี ลาดกระบัง ซึ่งเดิมมีผู้ให้บริการ 6 ราย และสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว ส่วนการจัดหาครั้งใหม่จะกำหนดให้มีผู้ให้บริการกี่ราย เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตามมาตรา 13 ของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ.2535 พิจารณา
อ้างอิง : กรุงเทพธุรกิจ |